ข้อมูลเผยแพร่

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการพัฒนาบุคลากรทางนิติวิทยาศาสตร์

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 นายแพทย์ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการพัฒนาบุคลากรทางนิติวิทยาศาสตร์ ณ อาคารสิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการตรวจพิสูจน์ การแลกเปลี่ยนบุคลากร รวมถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและงานนิติวิทยาศาสตร์ ให้สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและมาตรฐาน เกิดประโยชน์สูงสุดในกระบวนการยุติธรรม โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มี นายแพทย์สุรณรงค์ ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานนิติวิทยาศาสตร์ ดร.สุธิดา สุวรรณรังษี ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการติดตามคนหายฯ ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ รองผู้อำนวยการปฏิบัติการและใช้ประโยชน์ระบบลำเลียงแสง ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิชาการและวิจัย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ของทั้งสองสถาบันฯ เข้าร่วมงาน

นายแพทย์ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “แสงซินโครตรอนเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่สามารถประยุกต์ใช้ในงานวิชาการ วิจัย และการบริการสหสาขา ทั้งในด้านวัสดุศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ รวมถึงนิติวิทยาศาสตร์ จึงเป็นโอกาสอันดีที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะได้นำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาใช้ประโยชน์ในงานด้านการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนางานวิชาการด้านนิติวิทยาศาสตร์ การศึกษาวิจัย และนวัตกรรมด้านนิติวิทยาศาสตร์ ที่จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้เพื่อความเป็นเลิศในการให้บริการทางนิติวิทยาศาสตร์และการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ให้มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ สามารถนำไปใช้ในการยืนยันข้อเท็จจริง การอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสังคมให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน”

รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “ทั้งสองหน่วยงานมีเจตนารมณ์ในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการและแลกเปลี่ยนความรู้ เกี่ยวกับหลักการทางเทคนิคที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และความรู้ในงานนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างทักษะใหม่ๆ ในการปฏิบัติงานระหว่างบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน และสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการตรวจพิสูจน์ เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนไปใช้ประโยชน์ในงานนิติวิทยาศาสตร์และการอำนวยความยุติธรรม ตามหลักวิชาการและมาตรฐาน สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับ ทั้งยังสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่หน่วยงานเห็นสมควร จึงนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้”

ทั้งนี้ ภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานได้ถ่ายภาพที่ระลึกร่วมกัน และหารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านนิติวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

“สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นองค์การนำในการพัฒนามาตรฐานงานนิติวิทยาศาสตร์ เพื่ออำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสังคม”